วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

วัตถุประสงค์การวิจัย 3 ข้อ สูตรยาผีบอก

      นโยบายเปลี่ยน การปฏิบัติก็เปลี่ยน การทำวิจัยในครูก็ยิ่งลดลง เนื่องด้วยการประเมินวิทยฐานะแบบใหม่หรือเรียกกันติดปากว่า ว.21 วันนี้จะมาพูดถึง วัตถุประสงค์การวิจัย 3 ข้อ หากใครทำหลุดประเด็นไปจากนี้เป็นอันว่า งานวิจัยคุณได้กลับมาปรับปรุงแน่นอน ต้องย้อนกลับไปก่อนเมื่อประมาณปี 2554 ผมได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม ทำผลงานครู คศ.4 ในขณะที่ผมเป็นครูผู้ช่วย และยังไม่จบปริญญาโท สิ่งที่ผมได้รับคือ แบบฟอร์มงานวิจัย 5 บท ชนิดเติมคำลงในช่องว่าง และต้องได้รับการอบรมประมาณ 8 ครั้ง 8 เดือน สรุปง่ายๆ คือ คณะครู ผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มหนึ่งจ้าง รศ.ดร. ท่านหนึ่งมาเป็นที่ปรึกษา ความคิดของผมในขณะนั้น มันยอดมาก ที่มีแบบสำเร็จรูปต่างๆ ให้เราสามารถจัดทำได้เลย
      วันเวลาผ่านไป แบบฟอร์มงานวิจัย 5 บท นั้นเริ่มเป็นที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น เป็นอันว่าใครทำงานวิจัย (งาน คศ.3) ที่ต่างจากนี้ แม่เจ้าต้องถูกผู้เชี่ยวชาญที่ไม่น่าจะเชี่ยวชาญ บอกว่าต้องปรับตามแบบนี้เท่านั้น และในตอนนี้ปี 2561 แล้วชุดความคิดดังกล่าว ก็ยังฝั่งรากลึกสู่ผู้ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่น่าจะเชี่ยวชาญรุ่นสู่รุ่น ทำให้นักวิจัยในศาสตร์อื่นมองว่า ทำงานวิจัย (งาน คศ.3) ไร้ประโยชน์สิ้นดี
      เข้าเรื่องเลยแล้วกัน จากจุดประสงค์การวิจัยดังต่อไปนี้ คุ้นกันไหมครับ
         1. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของ (นวัตกรรม)
         2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนใช้ 
(นวัตกรรม)
         3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนหลังใช้นวัตกรรม 
(นวัตกรรม)

     ขยายข้อที่ 1 จะมีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง 75/75 80/80 85/85 90/90 ตัวเลขที่กล่าวมานี้หากท่านยังไม่เข้าใจสามารถตามอ่านได้ในบทความ ว่าด้วย ค่า E1/E2  Thailand only Ep1-3
https://issarabuu.blogspot.com/2018/03/e1e2-thailand-only-ep1.html

https://issarabuu.blogspot.com/2018/03/e1e2-thailand-only-ep2.html

https://issarabuu.blogspot.com/2018/03/e1e2-thailand-only-ep3.html

จะเห็นได้ว่า การตั้งจุดประสงค์ในข้อแรก ผมว่าผู้คิดมีความตั้งใจจะสื่อถึงกระบวนการการจัดทำนวัตกรรม โดยใช้ตัวเลขจำนวนมากเป็นตัวแทนว่าคุณภาพนี้คือ คุณภาพคับแก้ว สำหรับผมมองว่าตัวเลขนั้นเล่นแร่แปรธาตุได้ อย่าไปใส่ใจให้มาก ครูผู้สอนหากจะทำตามชุดความเชื่อเดิมๆ ผมมองว่าไม่ผิดหากท่านตั้งใจที่จะทำและทำขึ้นมาจริง 
     ขยายข้อที่ 2 จะมีนัยสำคัญทางสถิติเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะโยงไปถึงการอ้างอิงกลับไปสู่ประชาชน ประชากรหรือคนหมู่มากที่มีคุณสมบัติเหมือนกับการวิจัย ง่ายๆ หลังเรียนต้องมากกว่าก่อนเรียน ถ้าหลังเรียนไม่มากกว่าแสดงว่าไม่ใช่แล้ว สำหรับตัวผมมองในมิติใหม่ งานวิจัยที่ทำในห้องเรียน หรืองานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาไม่จำเป็นต้องมีการอ้างอิงกลับ (generalization) เพราะมิติหรือมโนทัศน์ใหม่ของการวิจัย อาจทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การให้คำตอบกับสิ่งที่สนใจเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจเป็นประโยชน์มากเพียงพอแล้ว ยกตัวอย่าง งานวิจัยในชั้นเรียนท่านทำเพื่อพัฒนานักเรียนกลุ่มอ่อน เพียงกลุ่มเดียว ท่านก็เพียงพัฒนาโดยดูพัฒนาการของผู้เรียน บรรยายการแก้ปัญหา และรายงานก่อน ระหว่าง และหลัง เพียงเท่านี้ผมว่าประโยชน์มันมหาศาล กว่าการที่จะบอกว่า สิ่งที่คุณทำมัน sig เป็นไหนๆ 
     ขยายข้อที่ 3 ข้อนี้ถ้านักเรียนบอกว่าไม่พึงพอใจ ครูจะกล้ารายงานตามความเป็นจริงไหมยกตัวอย่างมีงานวิจัยที่ผ่าน คศ. 3 แล้ว 1000 เรื่อง คำตอบที่ได้จากวัตถุประสงค์ข้อนี้ ท่านว่าจะเหมือนกันไหม ถ้ามองให้ลึกๆ การตั้งวัตถุประสงค์ของข้อนี้เป็นกระบวนการ คุมตัวแปรเกิน คุมแบบไหน ก็เป็นการเช็คกลุ่มตัวอย่าง/กลุ่มเป้าหมายของเราว่า มีความรู้สึกอย่างไร เบื่อหรือเปล่า ถ้าเบื่อจะสะท้อนออกในรูปของคะแนนที่น้อย ครูก็ต้องปรับเปลี่ยนเสีย แต่โดยทั่วไปแล้วครูจะใช้ประเมินหลังสอนจบ หรือสิ้นสุดกระบวนการแล้วเท่านั้น
     การตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยตาม 3 ข้อที่ว่า ผมไม่พันธงว่าผิดหรือถูก แต่ให้นึกถึงกระบวนการดำเนินการมากว่า นึกถึงขั้นตอนการได้มาซึ่งข้อมูลดีกว่า และลองปรับเปลี่ยนแนวคิด ปรับเปลี่ยนมโนทัศน์ของการวิจัย เพื่อท่านจะได้เห็นประโยชน์อันน้อยนิดที่มาจาก การลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง 

                                                 ความสุขของอิสระ 
                                                  16/09/2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัตถุประสงค์การวิจัย 3 ข้อ สูตรยาผีบอก

      นโยบายเปลี่ยน การปฏิบัติก็เปลี่ยน การทำวิจัยในครูก็ยิ่งลดลง เนื่องด้วยการประเมินวิทยฐานะแบบใหม่หรือเรียกกันติดปากว่า ว.21 วันนี้จะมาพ...